การออกแบบ wanghsientzu  

สมุดสะสมภาพบันทึกการเดินทางข้ามเวลาของขยะแห่งท้องทะเล

การทิ้งแก้วกาแฟจากมือคุณในแต่ละครั้ง คุณรู้หรือไม่ว่าแก้วจะต้องผ่านการเดินทางที่สุดแสนจะน่าตื่นเต้นอย่างไรบ้าง?

ในปี พ.ศ. 2556 ศาสตราจารย์โทมินจุนที่เป็นที่โด่งดังในเอเชียจากละครเกาหลีชื่อดัง ได้ล่องลอยตามกระแสน้ำในมหาสมุทรจากเกาหลีใต้ เข้าสู่ฝั่งทะเลไต้หวันในอีก 8 ปีให้หลัง และได้กลายเป็นศาสตราจารย์ผู้ไม่มีวันแก่เฒ่าอยู่บนแก้วกาแฟตลอดกาล ส่วนในปี พ.ศ.  2535 มีเรือขนสินค้าเต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเป็ดพลาสติกสีเหลืองได้อับปางลงในทะเลแปซิฟิกเหนือ เป็นเหตุให้เป็นน้อยจำนวนมากพลัดตกจากเรือและกระจัดกระจายล่องลอยไปตามชายหาดของประเทศต่างๆ มากมายทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของเด็กน้อยผู้มีความสุขกับการเล่นน้ำทะเล ที่ใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินจนหลงลืมรองเท้าเอลซ่าคู่โปรดของเขาทิ้งไว้ริมชายหาดในท้ายที่สุด

ขยะเหล่านี้ได้ถูกสะสมและบันทึกเรื่องราวการเดินทางต่างๆ ของมันไว้ในสมุดภาพของขยะแห่งท้องทะเล (The Guidebook of Marine Debris)

เป็นที่รู้กันว่าขยะทางทะเลได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก เนื่องจากความอันตรายที่เป็นภัยต่อเหล่าสัตว์น้ำทางทะเลจำนวนมาก ซึ่งต้องตายลงจากการพลั้งกินขยะพลาสติกโดยไม่ตั้งใจ หรือแม้แต่ถูกรัดคอตายจากเศษขยะต่างๆ ทางทะเลในแต่ละปี รวมถึงปัญหาจากขยะไมโครพลาสติกที่ส่งผลกระทบสู่ระบบนิเวศทางทะเลในระดับมหภาค

ในทุกๆ ปี จะมีขยะถึง 8 ล้านตันต่อปีถูกทิ้งลงในทะเลทั่วโลก โดยประเทศไทยถูกบันทึกว่าเป็นประเทศที่สร้างขยะทางทะเลสูงมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ในขณะที่ไต้หวันซึ่งมีพิกัดทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยมหาสมุทรในทุกทิศทางรอบด้าน ได้ให้ความสนใจกับปัญหาด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นกิจกรรมที่จัดโดยโรงเรียนหรือบริษัทที่พานักเรียนและพนักงานไปทำความสะอาดที่ชายหาดจริงเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในไต้หวัน แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะคาดเดาว่าจะมีหรือไม่สักวันที่ขยะทางทะเลจะหมดไป และจะได้มหาสุทรที่ใสสะอาดจะกลับคืนมา

“สำหรับการกำจัดปัญหาขยะทางทะล ไม่ใช่แค่เก็บขยะ หรือทำความสะอาดแล้วจะจบไป แต่เราต้องเข้าใจจริงๆ ว่าขยะเหล่านี้เกิดจากอะไร และจะต้องผ่านการเดินทางอย่างไร จึงจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง” กลุ่มนักรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งองค์กร Re-think ของไต้หวัน (http://rethinktw.org) ได้ทำงานร่วมกับบริษัทออกแบบทางไต้หวัน(simpleinfo: https://www.simpleinfo.cc/) ในการออกแบบสมุดสะสมภาพ โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Pokémon go Guidebook ซึ่งมุ่งหวังที่จะผสมผสานระหว่างการสร้างจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดทางทะเลของผู้คนเข้ากับประสบการณ์ความสนุกสนานที่ทุกคนได้รับเหมือนตอนเล่นเกมส์สะสมโปเกมอน

องค์กร Re-think ได้ทำการคัดเลือกขยะทางทะเลมาจำนวนทั้งสิ้น 101 ชิ้น ซึ่งรวมถึงถุงพลาสติก รองเท้าแตะ  ลูกลอยตกปลา หรือแม้แต่กระทั่งของเล่นอุลตราแมนของเด็กๆ หรือโทรศัพท์ MOTOROLA ในยุคแรกๆ ก็ยังถูกคัดเลือกมาสะสมเป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นของสมุดภาพ โดยขยะทุกชิ้น จะถูกเก็บภาพแบบ 360 องศา ให้ผู้ที่สนใจสามารถมองเห็นได้จากทุกรอบด้านและถูกบันทึกลงไปในสมุดภาพออนไลน์ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นมอนสเตอร์แห่งท้องทะเลที่ถูกเก็บสะสมไว้ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดระบุหมวดหมู่ของขยะ วัสดุ ความถี่ในการพบ รวมถึงระยะเวลาระดับความยากในการย่อยสลายเป็นข้อมูลของมอนสเตอร์แต่ละตัวอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบยังขยายกว้างไปถึงการสร้างเกมส์ให้เล่นเป็นที่ชาเลนจ์ทดสอบความสามารถในการดูภาพขยะทางทะเลต่างๆ ที่ถูกทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยให้ตอบคำถามว่าเป็นขยะที่กลายสภาพมาจากสิ่งของชนิดไหน โดยหลังจากจบเกมส์จะมีการวัดระดับว่าผู้เล่นมีความรู้ด้านขยะทางทะเลในระดับใด

ดังนั้นการรณรงค์ปัญหาขยะทางทะเลจากโปรเจคนี้ได้ถูกนำกลับมาให้ความสำคัญในไต้หวันอีกครั้ง ในรูปแบบที่สนุก ตื่นเต้น และน่าสนใจยิ่งกว่าเดิม ทำให้การออกแบบรณรงค์ในโปรเจคนี้ได้คว้ารางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Design) และ รางวัลพิเศษ  (Special Design) สาขาการออกแบบเพื่อสังคม (Social Design) จากงานประกาศรางวัล Golden Pin Design Award จากไต้หวัน และได้รับรางวัล Red Dot Design Award สาขาการออกแบบยอดเยี่ยมจากประเทศเยอรมัน รวมถึงรางวัล Good Design จากประเทศญี่ปุ่น

ในส่วนของประวัติองค์กรสิ่งแวดล้อม Re-think  (Re-think Environmental Education Association) นั้นได้ถูกก่อตั้ง ในปี พศ. 2556 โดยมีคุณเจสัน หวง (Jason Huang) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรณ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคม ในระยะเวลา 6 ปีนับจากที่ก่อได้ตั้งมา ทางองค์กรได้จัดกิจกรรมแล้วมากเกินกว่า 130 กิจกรรม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยทำความสะอาดชายหาดมากถึง 30,000 คน โดยได้กำจัดขยะไปรวมทั้งสิ้นมากกว่า 90 ตันจากชายหาดของไต้หวัน โดยมีขยะจำนวนมากกว่า 90% เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดพลาสติกซึ่งย่อยสลายได้ยากกว่าขยะทั่วไป

ในไต้หวันแม้ว่าจะมีผู้ที่สนใจจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องจากตระหนักรู้ถึงผลเสียที่ขยะเหล่านี้ที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อกลับคืนสู่ชีวิตประจำวัน พวกเขาก็ยังคงละเลยและกลับไปใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกตามปกติ

“ทางองค์กรต้องใช้การออกแบบไกด์บุ้คในการเปรียบเทียบและสร้างความแปลกใจให้ผู้พบเห็นให้ได้ตระหนักถึงความย้อนแย้งของภาพลักษณ์ที่สร้างสรรค์ของขยะที่ถูกบันทึกลงในสมุดภาพ กับสภาพของขยะที่ถูกทิ้งจากมือพวกเขาในชีวิตประจำวันในโลกแห่งความจริง” ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นฝาขวดน้ำ หรือช้อนพลาสติกที่ถูกใช้แล้วทิ้งลงในทะเลเมื่อ 30 ปีก่อน ต่างได้ถูกหยิบขึ้นมานำเสนออีกครั้งผ่านเทคโนโลยีในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้ผู้ที่พบเห็นได้คิดเชื่อมโยงภาพดังกล่าวเข้ากับขยะที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งความแปลกใหม่และสร้างสรรค์ดังกล่าวทำให้การออกแบบนี้ได้รับรางวัลพิเศษ สาขาการออกแบบเพื่อสังคมประจำปีจากงานประกาศรางวัล Golden Pin Design Award

ในส่วนของการทำงาน องค์กร Re-think มองว่าต้องทำงานใกล้ชิดกับปัญหาในเชิงลึกและได้เห็นถึงปัญหาอย่างแท้จริง ถึงจะสามารถทำให้เกิดการออกแบบเพื่อสังคมได้ ทั้งนี้ทางองค์กรจึงทำการร่วมมือกับบริษัทออกแบบ Simpleinfo นำเสนอผลงานซึ่งทำให้คนจำนวนมากสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของไต้หวันได้

ในปี พ.ศ. 2563 เหล่าห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกต รวมถึงร้านขายสินค้าจำนวนมากของประเทศไทยได้ประกาศการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคลจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามการลดได้แม้เพียงหนึ่งถุงก็ถือว่ามีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของไต้หวัน เมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้มีการขยายนโยบายการงดการใช้ถุงพลาสติกตามพื้นที่ต่างๆ จากการแค่เน้นไปที่ห้างหรือร้านสรรพสินค้า โดยให้รวมไปจนถึงร้านขายสินค้าอื่นๆ เช่นร้านขายเครื่องดื่ม ร้านเบเกอรี่ หรือร้านคอสเมติกส์ ทำให้ร้านเหล่านี้ไม่สามารถให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าได้ฟรีอีกต่อไป ซึ่งองค์กร Re-think ได้เปิดเผยว่าพวกเขามีความประทับใจอย่างมากหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้นโยบายการลดถุงพลาสติกนี้ เนื่องจากปริมาณถุงพลาสติกที่พบระหว่างการทำความสะอาดทางทะเลในไต้หวันได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจนเหลือเพียง 5.7% จากปริมาณโดยเฉลี่ย 14.7% ในไต้หวัน และปริมาณ 19% ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณขยะพลาสติกที่น้อยที่สุดในไต้หวันในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันนอกจากการจัดกิจกรรมทำความสะอาดทางทะเลแล้ว องค์กร Re-think ยังให้เป็นผู้ริเริ่มจุดประกายปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้แก่รัฐบาลไต้หวัน เพื่อกระตุ้นการสนับสนุนและความร่วมมือจากรัฐบาลในการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจในขยะทางทะเลผ่านทางการออกแบบสมุดภาพไกด์บุ้ค รวมถึงคอร์สเรียนที่จัดให้แก่นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ โดยคาดหวังให้ผู้คนมีความเข้าใจและสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อช่วยในการลดจำนวนขยะพลาสติกจากต้นตอแห่งปัญหาได้อย่างแท้จริง และเข้าใกล้สังคมที่ไร้พลาสติก (No Plastic Society) อย่างสมบูรณ์ได้ในอนาคต