การออกแบบสไตล์ไต้หวันเป็นอย่างไร? 6 ผลงานการออกแบบของไต้หวันที่คุณควรรู้

การออกแบบสไตล์ไต้หวันเป็นอย่างไร?

การออกแบบจากไต้หวันเป็นการออกแบบตามแนวศิลปะจีนโบราณ หรือเป็นการออกแบบสไตล์มินิมอลแบบญี่ปุ่นกันแน่?

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองในมุมที่ใช้การออกแบบเป็นสื่อกลางการสื่อสาร การออกแบบจะสามารถแสดงถึงจิตวิญญาณแห่งประชาธิไตย เสรีภาพ และความหลากหลายผ่านทางผลงานการออกแบบสไตล์ไต้หวันได้อย่างไร?

สำหรับฉันแล้ว ฉันมองว่าการออกแบบสไตล์ไต้หวันเป็นการออกแบบที่อยู่ตรงเส้นแบ่งระหว่างการผสมผสานของวัฒนธรรมดั้งเดิมกับรูปแบบความโมเดิร์นสไตล์ปัจจุบัน เช่นจากญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกา ลักษณะการออกแบบสไตล์ไต้หวันมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยในบางมุมอันเกิดจากมุมมองด้านประวัติศาสตร์หรือความหลากหลายของชนเผ่าในประเทศ สืบเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่นการรับมรดกวัฒนธรรมจากประเทศจีน ศาสนา ลัทธิเต๋า ศาสนาพุทธ วัด และลักษณะของการใช้ชีวิตของคนทั่วไปในประเทศ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการออกแบบของทั้งสองก็ยังมีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน

จากผลิตในไต้หวัน สู่ ‘ออกแบบจากไต้หวัน’

ในอดีตไต้หวันเป็นที่รู้จักในนามของสถานที่เพื่อการผลิตและส่งออกสินค้า เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและการผลิตพลาสติกในปี 1960 เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมโรงงานผลิตคอมพิวเตอร์และชิพในปี 1990 เช่นการผลิตจากบริษัท Acer, ASUS, TSMC อย่างไรก็ตามการออกแบบผลิตภัณฑ์ในไต้หวันมีจำนวนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และช่วยกระตุ้นการออกแบบในไต้หวันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการออกแบบช่วยขับเน้นปัญหาสังคมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นและเชื่อมต่อหลายๆกลุ่มในสังคมเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในมุมของการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบแนวกราฟฟิก หรือการออกแบบอื่นใดที่ช่วยส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้ใช้งาน

ในส่วนต่อไปจะแนะนำถึง 6 ผลงานการออกแบบที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของไต้หวันซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานประกวดรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน Golden Pin Design Award (GPDA) โดยที่ผลงานเหล่านี้ได้แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผสมผสามของการออกแบบ วัฒนธรรมท้องถิ่น และปัญหาร่วมสมัยของไต้หวัน  ทั้งนี้เหล่านักออกแบบยังได้ช่วยรัฐบาลให้เข้าใจถึงความสำคัญของการออกแบบ เพื่อที่จะได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการออกแบบที่จะช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้าของสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีมากยิ่งขึ้น

1.โปสเตอร์เปิดตัวนิทรรศการศิลปะพื้นบ้านไถหนาน  (Tainan Folk Art Performance Troupe Permanent Exhibition) ณ สวนวัฒนธรรมเซียวหลง

หลังจากพ้นยุคกระบวนการกลายเป็นเมือง (urbanization) ในไต้หวัน การดำรงอยู่ของวัดที่สร้างขึ้นตามวัฒนธรรมเดิมกลายเป็นเรื่องที่ดูล้าสมัยในสายตาของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม คุณ Timonium lake นักออกแบบผู้เป็นสมาชิกองค์กรออกแบบ AGI ได้ใช้องค์ประกอบภาพของวัดแบบดั้งเดิมและความเชื่อทางลัทธิเต๋า มาใช้โดยสื่อสารผ่านการใช้สีทอง สีเงินและสีนีออนต่างๆ และผสานเข้ากับหลักการออกแบบตัวอักษรและการแกะสลักตราประทับ มาออกแบบเป็นโปสเตอร์สไตล์โมเดิร์นที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นไต้หวันยุคดั้งเดิม ดังนั้นจึงถือเป็นโปสเตอร์ที่ผ่านการออกแบบโดยผสมผสานเข้าทั้งความโมเดิร์นและดั้งเดิมในเวลาเดียวกันทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจและให้คุณค่ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น

2.การออกแบบเชิงสุนทรียภาพของรถทัวร์สาธารณะสายไทเป-ฮวาเหลียน

คุณคาดหวังประสบการณ์การเดินทางโดยรถทัวร์แบบไหน? สิ่งที่รถทัวร์ควรมีให้แก่ผู้โดยสารไม่ใช่แค่การตกแต่งที่รกรุงรัง แต่ควรอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารตลอดการเดินทาง

รถทัวร์สายไทเป-ฮวาเหลียน (TPE-HUN) เป็นรถทัวร์สายแรกในไต้หวันที่มีการดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ในด้านของความมีสุนทรียภาพระหว่างการเดินทาง ด้วยการนำของกระทรวงการขนส่ง และสถาบันการออกแบบและวิจัย ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักออกแบบ ผู้ประกอบการขนส่งโดยสาร อุตสหกรรมเครื่องยนตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแบบรถทัวร์ที่ใช้ในการเดินทางสามชั่วโมงครึ่งจากไทไปสู่ฮวาเหลียนขึ้นมาเป็นครั้งแรก ภูเขาสีเขียวและสายน้ำสีฟ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของภูเขาฮวาเหลียนและก้อนกรวดจากทะเลสาปชีชิงได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการออกแบบโลโก้รถทัวร์ พร้อมทั้งการลดความซับซ้อนของเส้นตัดและสีสันทั้งภายในและภายนอกตัวรถ เช่นการใช้เบาะที่นั่งสีขาวกับที่วางแขนสีเทา การลดจำนวนไฟที่เป็นแสงสี และลดจำนวนข้อมูล โฆษณา หรือการทำเครื่องหมายต่างๆ ในรถ ดังนั้นการออกแบบที่ดูเรียบง่ายขึ้นของรถทัวร์ซึ่งเป็นมิตรต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และสามารถพักผ่อนได้อย่างแท้จริงบนรถทัวร์ และพร้อมที่จะท่องเที่ยวทันทีเมื่อถึงจุดหมายปลายทางที่ฮวาเหลียน

3.การออกแบบห้องเรียนที่ทำให้นักเรียนได้กลับมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาอีกครั้ง : ฐานทัพลับของฉัน

“การส่งเสริมเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียภาพของเด็กๆ เริ่มต้นด้วยการออกแบบในโรงเรียน” เด็กนักเรียนคนหนึ่งจะต้องใช้เวลาถึง 12,760 ชั่วโมงในช่วงระหว่างการเรียนตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องด้วยโรงเรียนระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมปลายส่วนใหญ่ของไต้หวันเป็นโรงเรียนรัฐบาล ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการและสถาบันการออกแบบจึงได้ผลักดันโครงการสร้างสุนทรียภาพผ่านการออกแบบในโรงเรียน โดยมุ่งจะออกแบบเก้าโรงเรียนนำร่องในไต้หวันในปี 2019 เป็นอันดับแรก ทำให้การออกแบบเป็นที่คุ้นเคยแก่นักเรียนไต้หวันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การศึกษาสามารถผสมผสานเข้ากับความสุนทรียภาพในสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่เป็นสถานที่หลักของเหล่าเด็กนักเรียนในการใช้ชีวิตประจำวัน

กรณีศึกษาโรงเรียนประถมศึกษาเป่ยกัง แห่งเมืองนิวไทเป ได้มีการสร้าง “ฐานทัพลับของเด็กๆ” ขึ้น ซึ่งเป็นแกนกลางในการออกแบบของโครงการนี้ จากห้องที่เป็นพื้นที่เก็บของมืดๆ ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นสถานที่สำหรับการละเล่นและการแสดงต่างๆ ของเด็กๆ โดยให้เชื่อมเข้ากับห้องเรียนที่ใช้ในการสอนทั่วไปของคุณครู ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในการออกแบบนี้คือการออกแบบกระดานดำซึ่งเดิมเป็นสื่อการสอนที่จะถูกใช้โดยคุณครูเท่านั้น แต่รูปแบบกระดานดำใหม่นี้ได้ถูกนำไปออกแบบโดยใช้กำแพงผนังทั้งด้านแทนกระดานดำ โดยที่เด็กๆ สามารถวาดรูปเล่นได้ประหนึ่งกระดาษของตนเอง ทำให้เป็นการออกแบบที่ช่วยให้เด็กๆ เลิกกลัวที่จะออกไปตอบคำถาม เขียนกระดาน และมีปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดช่องว่างระหว่างคุณครูและเด็กๆ ให้ใกล้ชิดกันได้มากขึ้นอย่างแท้จริง

4.การออกแบบเพื่อช่วยเหลือแรงงานผู้อพยพ : หนังสือที่เป็นเพื่อนร่วมทางของแรงงานชาวต่างชาติ

เนื่องจากประเทศได้มีการพัฒนาและมีความเป็นเมืองมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาร่วมมัยในปัญหาว่าด้วยการลดลงของเด็กเกิดใหม่ ผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างแรงงาน การเข้ามาของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับไต้หวันเช่นเดียวกับประเทศไทย จากการสำรวจในไต้หวันเปิดเผยว่าทุกๆ ประชากรจำนวน 40 คน จะพบว่ามีหนึ่งคนที่เป็นแรงงานต่างชาติจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมีกลุ่มประเทศเช่นอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยเป็นหลัก องค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ของไต้หวัน One-Forty ได้ทำการสังเกตุและพบว่าแรงงานจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ มักพบปัญหาความขัดแย้งและการเลือกปฏิบัติจากนายจ้างเนื่องจากอุปสรรคทางภาษาและความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม

องค์กร One-Forty จึงได้ออกแบบหนังสือแบบเรียนและแบบฝึกหักภาษาจีนที่เหมาะสำหรับแรงงานผู้อพยพ รวมถึงจดหมายต้อนรับเข้าสู่ไต้หวัน ที่ขั้นหนังสือ และการ์ดอวยพรที่ทำจากขมิ้นเพื่อเพิ่มกลิ่นอายบ้านเกิดของพวกเขา โดยนำทุกสิ่งบรรจุไว้ด้วยกันเป็นแพ็คเกจเพื่อส่งมอบแก่แรงงานผู้อพยพจากไต้หวันในฐานะเจ้าบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีการส่งมอบแพ็คเกจดังกล่าวแก่แรงงานในไต้หวันแล้วกว่า 3,000 ชิ้นโดยได้รับการสนับสนุนการบริจาคและความร่วมมือจากชาวไต้หวัน ทำให้แรงงานผู้อพยพสามารถใช้ภาษาจีนและปรับตัวได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีและเพิ่มการสื่อสารระหว่างชาวไต้หวันผู้เป็นเจ้าบ้านและเหล่าลูกจ้างของเขาได้อีกด้วย

5.การออกแบบหมุนเวียนโดยใช้วัสดุทางธรรมชาติ(Re-ing Plate)

การออกแบบหมุนเวียน (circular design) ไม่ใช่แค่การออกแบบด้วยคอนเซปการรีไซเคิลขยะ แต่ต้องเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงทั้งกระบวนการตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ กระบวนการผลิต และการรีไซเคิล ในอดีตมีการออกแบบของบริษัท DOT Design ที่ใช้ข้าวและเส้นใยสับปะรดมาเป็นวัสดุในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วน Re-ing Plate นี้ได้ทำจากเส้นใยไม้ไผ่ธรรมชาติปราศจากการใช้พลาสติกโดยสมบูรณ์ ซึ่งทำให้สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติและกลับสู่ห่วงโซ่ระบบนิเวศได้อย่างง่ายดาย

ในวัฒนธรรมจีน ไม้ไผ่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการยืนหยัดและความมุ่งมั่น โดยสภาพแวดล้อมอุณหภูมิและความชื้นในไต้หวันล้วนเป็นสภาพที่เหมาะสมแก่การปลูกไม้ไผ่นี้ ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่มากมายในตลาดการค้า แต่ส่วนใหญ่ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบผลงานฝีมือ ทั้งนี้ Re-ing Plate ต้องการสลัดทิ้งภาพลักษณ์ที่คนมองว่าผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ต้องเป็นงานฝีมือเท่านั้นออกไป ดังนั้นจึงเลือกใช้เส้นใยไม้ไผ่เป็นวัสดุโดยผสานเข้ากับการออกแบบลักษณะพิเศษ เพื่อเสริมความมั่นคงของโครงสร้าง โดยที่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเด่นในการใช้การออกแบบที่เรียบง่ายเข้ากับความสวยงามอันปราณีต

6.นักศึกษาหญิงผู้ขานรับเสียงเรียกแห่งพงไพร

เมื่อคุณคิดถึงสัตว์ในไต้หวัน คุณจะนึกถึงอะไร? โดยทั่วไปคนไต้หวันมักจะคิดถึงสัตว์สงวน เช่นหมีดำของไต้หวันและไก่ฟ้าจักรพรรดิซึ่งเป็นนกที่อยู่บนด้านหลังของธนบัตรมูลค่า 1,000 เหรียญของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม คุณจวง ฉุน หยูว (Chun-Yu Chuang) นักศึกษามหาวิทยาลัยได้วาดภาพประกอบที่ละเอียดและเหมือนจริงของนกนักล่า ที่อยู่อาศัย และอาหาร เพื่อแสดงให้เราเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการคุ้มครองสัตว์ดังกล่าวในไต้หวัน โดยที่ภาพวาดดังกล่าวนี้ตั้งใจวาดออกมาโดยปราศจากภาพของกิ่งไม้และส่วนเท้าของนก ซึ่งเป็นการตีความได้ถึงการลดลงของจำนวนต้นไม้ที่เป็นแหล่งที่อยู่ของมัน และทำให้เราเห็นถึงอันตรายทางระบบนิเวศและการขาดแคลนของต้นไม้อันเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ตามธรรมชาติ

คุณจวง ฉุน หยูว (Chun-Yu Chuang) เป็นผู้เติบโตมากับธรรมชาติตั้งแต่เด็กมีความประทับใจในภาพจำของเหยี่ยวที่บินโฉบเหนือท้องฟ้าในป่ามาก เธอจึงมีความสนใจเป็นอย่างมากที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเหล่านกนักล่ามากยิ่งขึ้นและมักจะไปภูเขาเพื่อวาดภาพหรือออกแบบทุกครั้งที่เธอมีเวลาในช่วงวันหยุด ดังนั้นภูเขาและป่าไม้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของเธอในการออกแบบ

การออกแบบของไต้หวันเป็นอย่างไร?

คำถามนี้ค่อนข้างยากที่จะอธิบาย มีนักออกแบบชาวไต้หวันหลายๆคนที่กำลังพยายามมองหาคำตอบจากผลงานออกแบบชิ้นต่างๆของพวกเขา แต่ในที่นี้ดิฉันจะขอหยิบคำตอบจากมุมมองของคุณ เหอ เจีย ชิ่ง (Ho Chia-Hsing) นักออกแบบชาวไต้หวันมาตอบ ซึ่งได้กล่าวไว้ดังนี้

“ไต้หวันเป็นสถานที่ที่อุดมไปด้วยสีสันทางวัฒนธรรม แต่ยังไม่มีความมั่นใจพอที่จะนำเสนอออกมาในรูปแบบการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของไต้หวันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามในฐานะนักออก มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องสื่อสารกับบริบทสังคมที่เราอยู่อาศัย เมื่อเรามองย้อนกลับไประลึกคุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่เรามีมาตั้งแต่โบราณ เราจึงจะมองเห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงและสามารถขับเน้นความเป็นเอกลักษณ์เชิงวัฒนธรรมของไต้หวันได้ผ่านทางการออกแบบ

Ho Chia-Hsing (何佳興)