การออกแบบ wanghsientzu  

【Spatial Design】ห้องสมุดจะอยู่ในป่าก็ดี หรืออยู่ในอ่างอาบน้ำก็ได้! การรีดีไซน์ห้องสมุดสาธารณะสุดสร้างสรรค์ของไต้หวัน

พื้นที่สาธารณะเป็นบริเวณที่รัฐบาลจัดให้แก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้คนในชุมชนได้นัดพบปะพูดคุยแบ่งปันความคิดกันและสร้างเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของแต่ละพื้นที่ หากแต่จะออกแบบอย่างไรให้มีพื้นที่ดังกล่าวสำหรับพบปะพูดคุยหรือพักผ่อน นั้นเป็นสิ่งที่คนไทยต้องพิจารณาครุ่นคิดอย่างแท้จริง

การออกแบบห้องสมุดธรรมดาทั่วไปให้ดีขึ้นนั้น เป็นหลักฐานที่ช่วยสื่อถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลพื้นที่สาธาณะของไต้หวัน

ดังนั้นบทความนี้จะพาท่านไปพบกับแนวคิดการออกแบบห้องสมุดไต้หวันใน 2 สถานที่หลักที่ไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมการอ่านหนังสือ แต่ยังให้น้ำหนักแก่พื้นที่พบปะพูดคุยของประชาชน ทำให้ห้องสมุดทั้งสองดังกล่าวได้รับรางวัลการออกแบบภายในนานาชาติและรางวัล Golden Pin Design Award ในไต้หวัน

ห้องสมุดในป่าสำหรับทุกเพศทุกวัย (A Library in the forest) – ห้องสมุดหลักประจำเมืองผิงตง (Pingtung Public Library)

ห้องสมุดประจำเมืองผิงตงที่มีอายุเก่าแก่กว่า 30 ปีได้ถูกสร้างขึ้นในอดีตโดยมีลักษณะไม่ได้ต่างจากห้องสมุดทั่วไปในไต้หวัน กล่าวคือตึกทรงสี่เหลี่ยม พื้นสีขาว จำนวนความสูงห้าชั้นเป็นต้น

รีโนเวทห้องสมุดหลักประจำเมืองผิงตง (ที่มา: Golden Pin Design Award; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)

การที่ผิงตงเป็นพื้นที่ที่อยู่ตอนใต้สุดของไต้หวัน ทำให้ไม่ได้มีรูปแบบวัฒนธรรมหรือสภาพแวดล้อมการอ่านหนังสือที่เอื้อต่อประชาชนอย่างเมืองใหญ่ๆ อย่างไทเปหรือเกาสง รัฐบาลผิงตงจึงได้เชิญ MAYU บริษัทสถาปนิกไต้หวันมา เพื่อให้ช่วยรีโนเวทห้องสมุดขึ้นใหม่ผ่านมุมมองสถาปนิกและการออกแบบภายในโดยใช้รูปแบบอาคารเดิมมาปรับแต่งใหม่เพื่อดึงดูดให้ประชาชนมาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น

“นี่เป็นห้องสมุดในป่า เราตัดสินใจจะสร้างหอสมุดใหม่ขึ้นในบริเวณที่ใกล้ชิดกับสวนต้นการบูรขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้ทำการตัดต้นไม้ใดเลยตั้งแต่ช่วงเริ่มการก่อสร้างจนสร้างเสร็จ”

ห้องสมุดที่บูรณะใหม่นี้ตั้งอยู่ในสวนขนาดใหญ่กว้างถึง 130,000 ตารางเมตร  โดยได้ทำการสร้างทางเข้าห้องสมุดใหม่เป็นบริเวณ Lobby มีลักษณะเป็นอาคารสีดำสามเหลี่ยม ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับป่าต้นการบูรอายุกว่า 50 ปีแล้วทำให้เกิดทัศนียภาพแบบใหม่ขึ้นทำให้ผู้คนรู้สึกเสมือนได้นั่งอยู่ท่ามกลางป่าจริงๆ

ภาพห้องสมุดหลักประจำเมืองผิงตงที่ได้รับรางวัลงาน Golden Pin Design Award ยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 (ที่มา: Golden Pin Design Award; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)
ห้องสมุดที่ถูกโอบล้อมในผืนป่า (ที่มา: MAYU architects; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)

ตัวอาคารห้องสมุดที่รีโนเวทขึ้นใหม่นี้มีสี่ชั้น โดยออกแบบให้เป็นพื้นที่กว้างโล่งเพดานสูงช่วยให้ผู้ใช้บริการไม่รู้สึกอึดอัดคับแคบ ตกแต่งด้วยการออกแบบให้มีบันไดวนบริเวณส่วนล็อบบี้เชื่อมต่อระหว่างทั้งสี่ชั้น เพื่อเพิ่มภาพความสูงแนวดิ่งระหว่างพื้นและเพดาน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นผู้ใช้บริการให้เลือกใช้บันไดวนเพื่อชมวิวห้องสมุดแทนที่จะใช้ลิฟท์

ยิ่งกว่านั้น “ฉันคิดว่าพื้นที่อ่านหนังสือที่ดีคือพื้นที่ที่ดึงความสนใจของคุณไปจากหนังสือได้” เพราะพื้นที่อ่านหนังสือที่ดีนั้นทำให้ผู้อ่านอยากจะอยู่ในห้องสมุดต่อนานขึ้น ณ ห้องสมุดแห่งนี้ที่ล้อมรอบไปด้วยมีหน้าต่างบานใหญ่ช่วยให้เปิดรับแสงได้เต็มที่ และที่นั่งมากกว่า 700 ที่นั่งที่หันหน้าเข้าสู่บริเวณป่า ทำให้สามารถเพิ่มความลื่นไหลและความสนุกสนานต่อประสบการณ์การอ่านหนังสือได้เป็นอย่างดี

ภาพห้องสมุดสี่ชั้นเพดานสูงตกแต่งด้วยบันไดวน (ที่มา: MAYU architects; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับงานออกแบบชั้นนี้คือคอนเซปท์การออกแบบที่เน้นเข้าถึงประชาชนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะอายุตั้งแต่ 0 ถึง 100 ปี มากกว่าที่จะออกแบบโดยเน้นแค่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาเหมือนห้องสมุดทั่วๆไป โดยชั้นหนึ่งของห้องสมุดจะเป็นโซนหนังสือสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ชั้นสองเป็นโซนบริการยืมคืนหนังสือซึ่งมีหนังสือประเภทต่างๆและที่นั่งทำงานจัดเตรียมไว้ให้

พื้นที่ชั้น 1 บริเวณห้องล็อบบี้ (ที่มา: Golden Pin Design Award; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)
พื้นที่ชั้น 1 สำหรับเด็กๆให้ได้ปีนป่ายบริเวณต่างๆได้อย่างเต็มที่ (ที่มา: Golden Pin Design Award; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)
พื้นที่ชั้น 2 บริการยืมคืนและอ่างหนังสือ  (ที่มา: MAYU architects; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)

ส่วนชั้นสามเป็นพื้นที่สำหรับวัยรุ่น เต็มไปด้วยหนังสือการ์ตูนและนิยายหรือนิตยาสารต่างๆ โดยมีที่นั่งในรูปแบบขั้นบันไดเชื่อมไปสู่ชั้นลอยพร้อมเครื่องฉายโปรเจคเตอร์สำหรับการใช้งานในกิจกรรมต่างๆ

พื้นที่ชั้น 3 บริเวณอ่านหนังสือสำหรับวัยรุ่น (ที่มา: Golden Pin Design Award; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)

ในชั้นที่สี่ได้ถูกออกแบบให้เป็น “พิพิธภัณฑ์วรรณคดีประจำเมืองผิงตง” ซึ่งเก็บสะสมงานประพันธ์พื้นเมืองมากมายจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธ์ในผิงตง การออกแบบพื้นที่ในชั้นนี้ได้ผ่านการคิดโดยเลือกวัสดุประเภทหินที่มีอายุมากกว่า 30 ปีมาใช้ในการก่อสร้างแล้วตกแต่งด้วยงานไม้แกะสลักอันเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวันในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังมีเบาะรองนั่งบนพื้นที่เตรียมไว้ให้ผู้อ่านให้ได้เลือกสรรวรรณคดีบทประพันธ์ที่ชื่นชอบมาอ่านไปพร้อมๆกับการซึมซับวัฒนธรรมผิงตงได้อย่างเต็มที่

โซนวรรณคดีไต้หวันของ “พิพิธภัณฑ์วรรณคดีประจำเมืองผิงตง” (ที่มา: MAYU architects; ช่างภาพ: Yu-Chen Chao)

ห้องอ่านหนังสือแบบโรงอาบน้ำญี่ปุ่น พื้นที่ที่ช่วยหล่อหลอมการออกแบบและความสวยงามให้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว

พื้นที่ “ไม่ใช่แค่ห้องสมุด (Not Just Library)”ที่ได้รับรางวัลงาน Golden Pin Design Award ยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 เป็นแนวคิดการออกแบบที่ได้รับมาจากห้องอาบน้ำสำหรับพนักงานหญิงที่โรงงานยาสูบแถวเขตซงชานในช่วงที่ไต้หวันตกอยู่ใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น สถาบันวิจัยและออกแบบไต้หวัน (Taiwan Design Research Institute) ได้ทำการเชิญบริษัทสถาปัตยกรรม JC. Architecture & Design (柏成設計) และบริษัทสถาปัตยกรรมการออกแบบ Landscape Motif Planning & Design Consultants (太研設計) มาเพื่อช่วยออกแบบเปลี่ยนแปลงบริเวณห้องอาบน้ำเก่าให้กลายเป็นพื้นที่อ่านหนังสือสไตล์โมเดิร์นโดยยังคงรูปแบบสถานที่ประวัติศาสตร์เดิมที่มีอายุมากกว่า 80 ปีไว้ มิให้โครงสร้างเดิมต้องถูกทำลายไป

บริเวณเนินทางเข้าห้องสมุด (ที่มา: TDRI)

แรงบันดาลใจในการออกแบบห้องสมุด “ไม่ใช่แค่ห้องสมุด (Not Just Library)” นี้มาจากประสบการณ์การใช้ห้องอาบน้ำรวมของญี่ปุ่นที่ผู้ใช้บริการจะต้องจ่ายค่าเข้าที่บริเวณทางเข้า จากนั้นเปลี่ยนชุดและแช่ตัวลงในบ่อแช่น้ำเพื่อขจัดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและนำมาสู่การผ่อนคลาย เช่นเดียวกับห้องสมุดที่บูรณะขึ้นใหม่นี้ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้เริ่มสัมผัสถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไปตั้งแต่มาถึงเนินหน้าประตูทางเข้า และค่อยๆสงบใจได้มากขึ้นในแต่ละก้าวซึ่งช่วยทำให้มีจิต ใจสงบพร้อมสำหรับการอ่านหนังสือมากขึ้น เมื่อเข้ามาในห้องสมุดแล้วจะพบ บ่ออาบหนังสือ (Book bath) ในทางขวามือ โดยบริเวณนั่งอ่านหนังสือถูกจัดให้เหมือนอยู่ในบ่อน้ำโดยทำให้พื้นยุบตัวลงไป มีโต๊ะและเก้าอี้ในบ่อที่รายล้อมไปด้วยชั้นวางหนังสือที่บรรจุหนังสือออกแบบ ศิลปะ สถาปัตยากรรมมากกว่า1หมื่นเล่ม

โซนบ่ออาบหนังสือ (ที่มา: Golden Pin Design Award)

ภายในบริเวณบ่ออาบหนังสือ (Book bath) ยังมีโต๊ะกลาง ที่ถูกออกแบบให้เหมือนรันเวย์ในงานแฟชันโชว์ แต่ถูกใช้สำหรับเป็นการแสดงนิทรรศการหนังสือหรือผลงานต่างๆที่แตกต่างหมุนเวียนกันไปในแต่ละซีซัน

ในส่วนของข้างหลังเป็นบริเวณของโซนอาบน้ำมีบ่อครึ่งวงกลมติดกับผนัง โดยใช้บ่ออาบน้ำ กระเบื้องเซรามิก และหน้าต่างที่มีมาตั้งแต่โบราณ

บริเวณของโซนอาบน้ำและการแสดงนิทรรศการหนังสือ (ที่มา: Golden Pin Design Award, Not Just Library)

หน้าต่างขนาดใหญ่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้แสงแดดส่องผ่านได้อย่างพอเหมาะและช่วยให้ผู้อ่านสัมผัสถึงทัศนียภาพสวนภายนอกได้อย่างเต็มที่ โดยหากไฟธรรมชาติจากภายนอกไม่เพียงพอ ยังมีโคมไฟหลอดลักษณะวงกลมแขวนไว้ด้านบน โดยยึดด้วยเหล็กเส้นขนาดเล็กมากกว่า 100 เส้น รั้งไว้กับเพดานโดยไม่ได้ทำการเจาะหรือทำลายตัวอาคารเดิม ทำให้หลอดไฟชิ้นนี้กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานศิลปะในหอสมุดแห่งนี้

นอกจากนี้ พื้นที่ภายนอกรอบๆห้องสมุดเองก็ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดีจากบริษัท Motif Planning & Design Consultants ซึ่งเดิมเป็นเพียงแค่พื้นที่รอบๆโรงอาบน้ำแต่ปัจจุบันได้ดัดแปลงปลูกต้นไม้เพิ่มมากกว่าร้อยชนิดที่แม้เมื่อมองแล้วให้ความรู้สึกเป็นสวนจากธรรมชาติ แต่ที่จริงแล้วผ่านการออกแบบมาอย่างละเอียดและใส่ใจเพื่อให้ทั้งต้นไม้สายพันธ์เฉพาะในไต้หวันและต้นไม้จากชาติต่างๆเติบโตมาเป็นทัศนียภาพที่สวยงามแปลกใหม่ได้อย่างลงตัว

ภาพวิวภายนอกของห้องสมุด “ไม่ใช่แค่ห้องสมุด (Not Just Library)” (ที่มา: Golden Pin Design Award)

“ตอนนี้พวกเราอยู่ในยุคดิจิตัลที่ไม่สามารถปฏิเสธได้จริงๆว่าสื่อประเภทกระดาษทางกายภาพมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เรามุ่งหวังว่าจะได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกิจกรรมหรือการแลกเปลี่ยนความรู้กับศาสตร์แขนงต่างๆ และหวังว่าเราจะสามารถส่งต่อความรู้เหล่านี้ ออกไปได้ผ่านวีธีการที่หลากหลาย” กล่าวโดยผู้จัดการดูแลห้องสมุด Not Just Library

การถ่ายทอดสด Live session ของวง Go Go Machine Orchestra ณ ห้องสมุด “ไม่ใช่แค่ห้องสมุด (Not Just Library)” (ที่มา: LUC UP!
สัมมนาที่ร่วมมือระหว่างนักออกแบบไทยกับไต้หวัน แบ่งปันประสบการณ์ออกแบบงานที่ได้รับรางวัล (ที่มา: Golden Pin Design Award)

ในฐานะสถาบันสำคัญด้านการโปรโมทการออกแบบ สถาบันวิจัยและออกแบบไต้หวันได้ทำการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์เดิมๆของห้องสมุดที่เป็นภาพจำของห้องเงียบๆ มีโต๊ะเยอะๆและติดไฟสว่างๆ ผ่านทางกิจกรรมการออกแบบและงานศิลปะ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนในการพบปะพูดคุยกัน และช่วยให้ห้องสมุดได้เป็นมากกว่า “แค่ห้องสมุด”