การออกแบบ wanghsientzu  

เวทีนักออกแบบรุ่นใหม่ในไต้หวัน: การสร้าง Soft Power ผ่านการบ่มเพาะพลังความสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือไต้หวัน การจัดนิทรรศการณ์แสดงผลงานการออกแบบ (Thesis Exhibition) ที่จัดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจากแต่ละมหาวิทยาลัยในทุกๆ ปี ก็ล้วนแต่เป็นงานที่สร้างความตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งให้แก่วงการการออกแบบ ผลงานที่นำมาจัดแสดงจากแต่ละโปรเจคล้วนเป็นการแสดงถึงสิ่งที่นักเรียนนักศึกษาได้ร่ำเรียนมาในตลอดระยะเวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัย ในขั้นตอนของการออกแบบคอนเซปท์และการลงมือปฏิติ เหล่านักศึกษาได้พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ผลงานของตนตอบโจทย์ปัญหาของสังคมและเป็นบันทึกรูปแบบของสังคมร่วมสมัยเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเผชิญกับปัญหาความท้าทายในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น นิทรรศการณ์จบการศึกษายังเป็นประหนึ่งสะพานเชื่อมระหว่างนักศึกษาจบใหม่สู่วงการวิชาชีพ นำความสามารถไอเดียออกแบบแปลงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้และทำให้เหล่านักศึกษามองเห็นเส้นทางอนาคตในวิชาชีพของตนเอง

นิทรรศการณ์นักออกแบบรุ่นใหม่ที่จัดขึ้นในปี 2023 (ที่มา: yodex Design)

แตกต่างจากในไทยที่แต่ละสถานศึกษามักจะจัดงานแสดงผลงานจบการศึกษาของตนเอง เหล่าสถาบันการศึกษาในไต้หวันไม่ใช่แค่มีงานนิทรรศการณ์เป็นของตนเองเท่านั้น แต่ยังมี “นิทรรศการณ์นักออกแบบรุ่นใหม่ (Young Designers Exhibition)” ที่จัดโดยได้รับความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานในรัฐบาลไต้หวัน โดยเป็นนิทรรศการณ์การออกแบบของนักเรียนนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีประวัติการจัดมาแล้วยาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งในทุกๆปี จะมีมากกว่า 100 กลุ่มจากคณะและสถาบันออกแบบที่เกี่ยวข้องมาเพื่อเข้าร่วมโชว์ผลงานต่างๆ ในไต้หวัน เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ (product design), คอมมิวนิเคชันดีไซน์ (visual communication design), การออกแบบสื่อดิจิตัล (digital multimedia design), สถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน (spatial and architectural design), แฟชันดีไซน์ (fashion design), หรือ การออกแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary integrated design) เป็นต้น  ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะสถาปัตยกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เข้าร่วมนิทรรศการณ์ในปีนี้เช่นกัน นอกจากนี้ ตัวนิทรรศการณ์ยังมีการมอบรางวัลการออกแบบ การร่วมมือระหว่างบริษัทและนักศึกษา ทำให้เหล่าบัณฑิตจบใหม่ผู้มีความสามารถได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ผ่านงานนี้

นิทรรศการณ์นักออกแบบรุ่นใหม่ที่จัดขึ้นในปี 2023 (ที่มา: yodex Design)
นิทรรศการณ์นักออกแบบรุ่นใหม่ที่จัดขึ้นในปี 2023 (ที่มา: yodex Design)

แม้ว่าจะเป็นนิทรรศการณ์สำหรับเด็กจบใหม่ แต่ทางผู้จัดก็มิได้ละเลยในการวางแผนจัดงานเลยแม้แต่น้อย เหล่านักออกแบบชั้นนำในไต้หวันเองก็ต่างถูกเชิญมาเพื่อช่วยออกแบบวางแผนงานนี้

ในปี 2021 ที่เป็นงานครบรอบ 40 ปีของงานทรรศการณ์ดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ (Young Designers Exhibition) บริษัท Aaronnieh workshop ที่มีผู้ก่อตั้งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กร Alliance Graphique Internationale (AGI) ก็ได้ถูกเชิญมาเพื่อออกแบบโลโก้ใหม่เพื่อเป็นแบรนด์ดิ้งให้นิทรรศการณ์นี้ โดยโลโก้มีองค์ประกอบเป็นการนำตัวย่ออักษรภาษาอังกฤษจากชื่อของงานนิทรรศการณ์ มาทำการจัดเรียงเป็นรูปแบบต่างๆ ที่นำมาใช้ได้กับวัสดุหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่เป็นแค่โลโก้ธรรมดาตายตัว เพื่อสะท้อนตัวตนของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ และมีสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป

ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบ Visual Identity ของปี 2021 ได้ทำลายรูปแบบฟอร์แมทโปสเตอร์เดิมๆ และเปลี่ยนให้กลายเป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดข้อความส่งต่อ “บทสนทนา” ระหว่างนักศึกษาและบุคคลต่างๆ ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมการออกแบบ โดยใช้การสื่อสารด้วยมีม (meme) ในโซเชียลเป็นแรงบันดาลใจในการสื่อสารสร้างเสริมความเข้าใจในความคิดความต้องการของกลุ่มนักออกแบบในวัยต่างๆ ได้

ทางบริษัท Aaronnieh workshop เองก็ได้ทำการเชิญกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันคณะวิชาออกแบบต่างๆ กว่า 140 กลุ่มจากทั่วทั้งไต้หวันเพื่อมาเข้าร่วมออกแบบงานนี้ โดยให้แต่ละกลุ่มคิดคำที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของตนเองขึ้นมาและให้บริษัท Aaronnieh workshop ช่วยนำมาจัดวางออกแบบทำเป็น customized poster ที่มีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มต่อไป โดยรูปแบบการออกแบบดังกล่าวประสบความสำเร็จและได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากโปสเตอร์ข้อความที่ออกแบบขึ้นใหม่นี้สามารถเป็นสื่อกลางด้านการสื่อสาร การโปรโมท และการสนทนาระหว่างกลุ่มคนรุ่นต่างๆ ได้

สำหรับนักศึกษาที่กำลังใกล้จบการศึกษาของคณะด้านการออกแบบ การนำความรู้ที่ได้รับจากรั้วมหาวิทยาลัยไปปรับใช้จริงในการทำงานเป็นความชาเลนจ์ทั่วไปที่ต้องพบเจอ ดังนั้น นิทรรศการณ์นักออกแบบรุ่นใหม่ จึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมสื่อกลางระหว่างวงการการศึกษาและอุตสาหกรรมการออกแบบ โดยเหล่าพาร์ทเนอร์ผู้เข้าร่วมงานจะนำเสนอถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอและให้เหล่านักศึกษานำเสนอหนทางแก้ไข ซึ่งงานนี้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ เช่น บริษัท ASUS, กรมทางรถไฟไต้หวัน และ มูลนิธิสวัสดิการเด็กไต้หวัน ( Child Welfare League Foundation)

ตัวอย่างเช่นการจัดโปรดักชันส์คอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไต้หวันได้เสนอคำถามในงานแก่เหล่าบัณฑิตว่า “เราจะสามารถนำการออกแบบมาสร้างสรรค์คอนเสิร์ตออนไลน์ได้อย่างไร” โดยเพื่อตอบคำถามนี้ นักศึกษาจึงได้ออกแบบ โปรแกรมแพลทฟอร์ม MIRAGE ที่ทำงานด้วยกระบวนการ AI ในการสตรีมมิ่งคอนเสิร์ตได้ ( MIRAGE – Online Concert AI Interactive Streaming Platform) ซึ่งมีระบบตรวจจับท่าทาง เสียงพูด การเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ชมในช่วงระหว่างคอนเสิร์ต ทำให้บรรดาแฟนคลับสามารถมีการตอบสนองและสนับสนุนเชียร์เหล่าไอดอลได้แม้จะรับชมผ่านช่องทางออนไลน์

ดังนั้น ด้วยความร่วมมือระหว่างวงการวิชาการและอุตสาหกรรมออกแบบนี้ เหล่านักศึกษาไม่ได้แค่จะได้รับความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมดนตรีคอนเสิร์ตที่พวกเขาอาจจะไม่คุ้นเคย แต่ยังสามารถร่วมนำเสนอไอเดียที่แปลกใหม่ต่างจากประสบการณ์เดิมๆ ได้อีกด้วย

MIRAGE – Online Concert AI Interactive Streaming Platform (ที่มา: yodex Industry-Academia Cooperation)

สุดท้ายแล้ว ความสามารถในการคิดออกแบบ การเล่าเรื่อง การสร้างสรรค์ผลงานที่เรียนรู้มาตลอด 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยก็ออกผลและได้รับการสนับสนุนผ่านช่องทางนิทรรศการณ์นักออกแบบรุ่นใหม่ โดยสถาบันออกแบบและวิจัยไต้หวันเองก็มีการส่งเสริมให้ทุนแก่ไอเดียออกแบบที่โดดเด่นสร้างสรรค์ผ่านงานประกวดรางวัล Golden Pin Concept Design Award ทำให้ไอเดียการออกแบบสามารถถูกนำมาปรับใช้ได้อย่างแท้จริง

ในปีที่ผ่านมา ทีมนักออกแบบของคณะ Communication design ก็ได้ออกแบบเต้าหู้รูปทรงสี่เหลี่ยมธรรมดาที่อยู่คู่กับไต้หวันอย่างยาวนานขึ้นใหม่ โดยมีการครีเอทรูปแบบแพคเกจกับรูปทรงให้มีความสนุกสนานในการจับคู่วัตถุดิบอาหารเข้าด้วยกันมากขึ้นและประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งเมื่อเข้าประกวดในงาน Golden Pin Concept Design Award โดยทางทีมได้กล่าวฝากไว้บนเวทีว่า “เราหวังว่าในวันหนึ่ง โปรเจค “TOFU” จะถูกปล่อยสู่ตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตในไต้หวันให้คนทั่วไปได้สัมผัสความสวยงามมีเสน่ห์ของการออกแบบนี้มากขึ้น”

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ “TOFU” ที่ได้รับรางวัล Golden Pin Concept Design Award ยอดเยี่ยมแห่งปี 2022 (ที่มา: TOFU)

จากนักศึกษาวิชาออกแบบสู่วิชาชีพนักออกแบบเป็นเส้นทางการเดินทางที่ไม่ง่ายนักไม่ว่าสำหรับนักออกแบบประเทศใด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่านักศึกษาโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีภาระอะไรต้องแบกรับมากนักระหว่างเรียน จึงสามารถดึงพลังการจินตนาการและการทุ่มเทออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์ของประเทศ ดังนั้นการสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่จากหลายๆ ภาคส่วนรวมถึงรัฐบาล จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเสริมสร้างพลัง soft power ของแต่ละประเทศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น