การออกแบบ wanghsientzu  

​นอกจากได้ยินเสียงดนตรีแล้ว เรายังสามารถ “มอง” เห็นมันได้อีกด้วย ! 3 การออกแบบของอัลบั้มในไต้หวันที่คุณไม่ควรพลาด

ทำไมถึงอยากเป็นนักออกแบบ? คำถามนี้หากคุณถามคนที่อยากเป็นนักออกแบบในไต้หวัน จะพบว่ามีคนกว่าเก้าในสิบส่วนตอบว่า “เพราะฉันอยากออกแบบหน้าปกอัลบั้มหรือหนังสือสวยๆ เท่ห์ๆ บ้าง”

“ฉันคิดว่าการออกแบบหน้าปกอัลบั้มเป็นการออกแบบเชิงหลายมิติ ไม่เหมือนโปสเตอร์แผ่นๆ ทั่วไป เนื่องจากหน้าปกอัลบั้มต้องมีการจัดวางทั้งในส่วนของเนื้อเพลง การออกแบบและจัดวางแผ่นซีดี ที่ต้องคำนึงถึงความซับซ้อนทั้งภายในและภายนอกตัวอัลบั้ม อีกทั้งยังต้องมีการวางแผนการจัดเรียงข้อความสำหรับการอ่านก่อน-หลัง”

คุณเลี่ยวเสี่ยวจึ (Godkidlla) นักออกแบบชาวไต้หวัน (behance)

ยิ่งเมื่อเรากล่าวถึงนักออกแบบอัลบั้ม ที่มักจะต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของศิลปินเป็นพิเศษ โดยต้องออกแบบให้เหมาะสมต่อทั้งลักษณะของศิลปินและแนวคอนเซปท์ดนตรี ซึ่งด้วยแพคเกจ การดีไซน์ วัสดุ การจัดวางข้อความต่าง รวมถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อย่างคุณภาพการพิมพ์ จะช่วยทำให้อัลบั้มดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างศิลปินกับแฟนคลับได้

​​ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้แหละคือเสน่ห์ของการออกแบบอัลบัม แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นโลกยุคดิจิตอลที่เราไม่จำเป็นต้องซื้ออัลบัมซีดีมาฟังเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่การออกแบบปกอัลบั้มในไต้หวันยังคงอยู่ในจุดที่แข็งแกร่งไม่สั่นคลอนมาตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน ซึ่งทั้งงานประกวดการออกแบบอย่าง Golden Melody Award ที่เป็นงานรางวัลเพลงที่สำคัญในสังคมชาวจีน และงานรางวัล Golden Pin Design Award ต่างก็ให้ความสนับสนุนผลงานการออกแบบอัลบั้มในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์เป็นอย่างมาก

​​ทั้งนี้ ทางเราอยากจะแนะนำผลงานอัลบั้มของไต้หวัน 3 ชิ้นที่คุณไม่ควรพลาดดังนี้

“No dream, no life” (ชีวิตที่ไม่ควรปราศจากความฝัน) ออกแบบโดยคุณ godkidlla

“No dream, no life” ได้รับรางวัล Golden Pin Design Award ในงานดีไซน์ดีเด่นและรางวัล Golden Melody Music Award งานดีไซน์อัลบัมดีเด่นในปี 2018 (แหล่งภาพที่มา: 廖小子 Behance)

​​“แทนที่จะใช้องค์ประกอบมากมาย ทำไมเราไม่ลองใช้แค่องค์ประกอบเดียวแต่สะท้อนได้ทุกความหมาย?”

คุณเลี่ยวเสี่ยวจึ (Godkidlla) นักออกแบบชาวไต้หวัน

นี่เป็นคอนเซปท์การออกแบบที่ใช้สำหรับการออกแบบอัลบั้ม “No dream, no life” (ชีวิตที่ไม่ควรปราศจากความฝัน) ที่ออกในปี 2018 ของศิลปินเพลงร็อคไต้หวันอย่าง Sorry Youth โดยเพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้คนที่ต้องเผชิญหน้ากับความวุ่นวายของสังคมที่เข้ามาในรูปแบบของคลื่นชีวิต ซึ่งนักออกแบบ Godkidlla ใช้ลายเส้นคลื่นแบบง่ายๆ มาบรรยายถึงความสัมพันธ์พี่น้อง ชีวิต และเกาะ ทั้งนี้ยังมีรูปกำปั้นชนกันบนหน้าปกที่สื่อถึงความเป็นพี่น้องในไต้หวัน รวมถึงภาพที่มีแขนคนพาดบ่ากันอยู่บนโปสเตอร์

นอกจากนี้หน้าปกอัลบัมยังถูกออกแบบมาอย่างเชื้อเชิญให้แฟนคลับได้ลองสัมผัสอีกด้วย เนื่องจากเป็นการพิมพ์ในรูปแบบนูนสามมิติที่จับต้องได้ ประกอบกับตัวอัลบั้มที่ยังประกอบด้วยเส้นคลื่นเล็กๆ ที่ถูกวาดออกมาทีละเส้นๆ(โดยคุณ Godkidlla นักออกแบบได้แนะนำว่าถ้าหากจ้องนานๆ แล้วจะรู้สึกราวกับว่าคลื่นทะเลกำลังเคลื่อนที่ได้จริง ) อีกทั้งปกหลังยังมีกิมมิคอย่างลายเส้นพู่กันที่เขียนขึ้นในรูปแบบแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตามอารมณ์ของแต่ละเพลง

ทำให้ท้ายที่สุดผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล Golden Melody Music Award สาขาการออกแบบอัลบัมดีเด่นประจำปีและเป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัล Golden Pin Design Award ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“Metropolis” ออกแบบโดยคุณแอรอน(Aaron Nieh Workshop)

ผลงานชิ้นนี้เป็นงานที่ได้เข้าชิงรางวัลการออกแบบที่ทีที่สุดของ Golden Pin Design Award และรางวัลการออกแบบอัลบัมดีเด่นที่ดีที่สุดของ Golden Melody Award ในปี 2021 (แหล่งภาพที่มา: Aaron Nieh Workshop)

ไอดอลของชาวไต้หวันอย่าง Aaron Yan ได้เริ่มต้นเส้นทางของเขาจากการเอาเพลงที่คนอื่นแต่งมาร้อง จนมาถึงตอนนี้ที่ได้ออกอัลบัมเป็นของตนเอง สิ่งที่สะดุดตาที่สุดในการออกแบบอัลบั้มของเขาคือภาพรูปตัวตลกโมโนโทนสีดำแดง โดยหากมองจากบนลงล่างในองศาที่ต่างกันก็จะเห็นอารมณ์ของภาพที่เปลี่ยนไป ส่วนที่เหลือของอัลบั้มก็จะถูกพิมพ์ด้วยเฉดสีขาวที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งข้อมูลสำคัญที่จะถูกพิมพ์เป็นสติกเกอร์หรือพิมพ์ด้วยเอฟเฟกต์ต่างๆ เช่นการปริ้นท์นูน หรือเคลือบสีด้านบางส่วน โดยที่โดยรวมของอัลบัมทั้งหมดจะไม่มีการใช้ตัวหนังสือบรรยายมากนัก ทำให้โฟกัสจะอยู่ที่ศิลปิลเป็นหลัก

“เรามักจะใช้ชีวิตได้จนถึงหนึ่งวินาทีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับอนาคต หนึ่งวินาที ณ ปัจจุบันนี้ก็เป็นเพียงบรรพกาล”

การออกแบบของอัลบัม Metropolis ได้ออกแบบโดยผสมผสานแนวคิดยุคสมัยนิยม (modern) เข้ากับยุคสมัยบรรพกาล (primitive) โดยภายในตัวอัลบัมจะมีรูปตัวตลกเหมือนหน้าปก แต่กลับมีใบหน้าที่แตกต่างกันในหนังสือเนื้อเพลง อีกทั้งข้างในจะเต็มไปด้วยภาพเปรียบเทียบตัดด้วยความอิ่มตัวของสีมากมาย รวมถึงภาพผิวหนังสัตว์และผิวหนังมนุษย์ พร้อมแถบดึงบราวเซอร์ที่ใช้ดึงด้านบน และยังมีการใช้เทคนิค slit-scan effect กับภาพน้ำตกและแป้นพิมพ์ที่วางไว้ในแนวตั้ง

การออกแบบอัลบั้มโดยใช้สีขาวสไตล์มินิมอลเป็นหลักสามารถนำเสนอได้ชัดถึงความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างหน้าปกกับภาพจากหน้าข้างใน ทำให้เหล่าแฟนคลับสามารถเข้าถึงเพลงได้จากทั้งการฟังและการมอง อีกทั้งยังช่วยให้สัมผัสได้ถึงสิ่งที่นักร้องและตัวเพลงต้องการจะถ่ายทอดจริงๆ

“Hold that tiger” (จับเสือตัวนั้นไว้)——ออกแบบโดย Onion Design

 “Hold that tiger” ได้รับรางวัล Golden Pin Design Award สาขาการออกแบบตราสัญลักษณ์ และรางวัล Golden Melody Award สาขาการออกแบบอัลบัมดีเด่นประจำปี 2019 (แหล่งภาพที่มา: Onion Design, OKAPI)

ผลงานชุด “Hold that tiger” หรือ จับเสือตัวนั้นไว้ ได้ถูกเสนอชื่อเข้ารับชิงรางวัลการออกแบบอัลบั้มที่ดีที่สุดประจำปี 2019 ซึ่งอัลบั้มดังกล่าวมีหน้าปกเป็นภาพคนสวมชุดนักพรตลายสายฟ้า พร้อมหมวกนักบินอวกาศและแว่นตาสามมิติกำลังขี่เสืออยู่ โดยเมื่อเปิดอัลบั้มจะพบกระดาษสีเหลืองสดลักษณะคล้ายยันตร์หกเหลี่ยมห่อแผ่นซีดีไว้ และหากเปิดมาอีกชั้น จะพบแผ่นซีดีสีชมพูเรืองแสง ซึ่งมีภาพ Zi Wei Dou Shu ที่ใช้ในการคำนวนชะตาชีวิตตามหลักโหราศาสตร์ของจีนปริ้นท์อยู่บนแผ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกๆ ขั้นตอนการเปิดอัลบั้มของผู้ซื้อเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความประหลาดใจ

‘Hold that tiger’ เป็นอัลบัมของ The Muddy Basin Ramblers ที่ประกอบไปด้วยดนตรีหลากหลายรูปแบบและมีการทดลองประพันธ์เพลงที่มีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมวัดในไต้หวัน นักออกแบบ Onion Design ได้ผสมผสานความเชื่อในวัดเข้ากับแนวคิด Retro-Futurism เช่นการใช้ตัวอักษรรูปแบบที่ใช้ในวัดผสานเข้ากับแนวการเขียนอักษรสไตล์ Woodtype จากอเมริกาภาคตะวันตก จากนั้นใช้ภาพข้อความภาษาจีนอังกฤษปนกันโดยมีลักษณะคล้ายยันตร์ ส่งให้ภาพรวมมีความงามในแบบที่ทั้งทันสมัยและล้ำยุคไปในเวลาเดียวกัน  

ในประเทศไทยมีนักออกแบบอัลบัมชื่อดังหลายคน เช่น Hereodd(คุณอ๊อด–สุพิชาน โรจน์วณิชย์) Peng Chanon และนักออกแบบอีกหลายๆ ท่าน ที่นอกจากจะนำเสนอรูปแบบของวงดนตรีที่ชัดเจนแล้ว ยังสื่อถึงความมีอารมณ์ขันในแบบของคนไทยผ่านทางงานออกแบบและยังมีการใช้องค์ประกอบที่เต็มไปด้วยสีสันด้วย ส่วนสำหรับอัลบัมของไต้หวันที่นำเสนอไปใน 3 ชุดที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ แม้ว่าจะมีรูปแบบการออกแบบที่ไม่ค่อยเหมือนกัน แต่ต่างก็นำเสนอได้ถึงวัฒนธรรมไต้หวันและสังคมร่วมสมัย อีกทั้งต่างก็เป็นอัลบั้มที่ทำให้ผู้คนได้เสพดนตรีจากทั้งการฟัง การมอง ตลอดจนการจับต้องทางกายภาพ ซึ่งทำให้สัมผัสได้ถึงมนตร์เสน่ห์อันน่าหลงใหลของดนตรีในไต้หวันอย่างแท้จริง