【Spatial Design】เรียนรู้สุนทรียภาพผ่านศูนย์รีไซเคิลขยะในโรงเรียน พลิกโฉมการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษา

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้การทิ้งขยะเป็นเรื่องสนุกน่าสนใจ แม้กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษา

เสียงสัญญาณลั่นในช่วงระยะเวลาบ่ายสามโมง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ช่วงทำความสะอาด” เป็นเวลา 30นาทีของนักเรียนในไต้หวัน แต่เมื่อชั่วโมงทำความสะอาดสิ้นสุดลง กลับไม่มีใครต้องการเป็นคนรับผิดชอบขยะหรือขยะรีไซเคิลที่รวบรวมได้ เนื่องจากทุกคนต่างมองว่าโรงเก็บขยะล้วนเป็นพื้นที่เล็กๆที่ห่างไกลอาคารโรงเรียน เราจึงมักทำได้แค่กลั้นหายใจปิดจมูก นำขยะไปทิ้งให้เสร็จแล้วรีบวิ่งกลับห้องเรียน

ศูนย์รีไซเคิลขยะก่อนทำการปรับปรุง (ที่มา: Design Movement On Campus)

ณ โรงเรียนประถมศึกษากวางอู่ (Guang Wu Primary School) แห่งเมืองเกาสง (Kaohsiung) ศูนย์รวบรวมขยะรีไซเคิลถูกสร้างด้วยอิฐและเหล็กให้มีลักษณะชั่วคราว สภาพภายในมืดมิดและไม่มีการระบายอากาศรวมถึงพื้นที่เก็บขยะที่เหมาะสม ทำให้กลายเป็นมุมอับในโรงเรียนที่เหล่านักเรียนต่างไม่อยากเฉียดกรายเข้าใกล้ อีกทั้งการจัดให้ทิ้งขยะหน้าประตูโรงเรียนเพื่อความสะดวกในการเก็บของรถขยะ นอกจากจะทำให้มีสภาพไม่น่าดูแล้ว ยังอาจทำให้กลุ่มชุมชนมักมาแอบทิ้งขยะบริเวณหน้าโรงเรียน กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการจัดการดูแลขยะที่เหมาะสม

ศูนย์รีไซเคิลขยะหลังได้รับการออกแบบใหม่ (ที่มา: Golden Pin Design Award)

ด้วยจังหวะอันดีที่กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันได้ร่วมมือกับสถานบันวิจัยการออกแบบไต้หวัน (Taiwan Design Research Institute) และโรงเรียนต่างๆ เพื่อดำเนินโครงการ “การพัฒนาการออกแบบในสถานศึกษา (Design Movement on Campus)” โรงเรียนกวางอู่จึงได้เข้าร่วมโครงการเป็นโรงเรียนตัวอย่างโดยการเชิญบริษัทออกแบบ Meta House (暁房子創意設計) มาช่วยวางแผนการดีไซน์พื้นที่โรงเรียนกวางอู่ ด้วยมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโรงเก็บขยะแบบปิดให้กลายเป็นสถานที่แบบเปิดโล่งเพื่อให้ผู้คนรู้สึกยินดีที่จะเข้าใกล้

พื้นที่เก็บขยะรีไซเคิลและขยะทั่วไป (ที่มา:Design Movement On Campus)

ในพื้นที่เก็บขยะรูปแบบใหม่ บริเวณที่เก็บขยะรีไซเคิลจะใช้ตาข่ายเหล็กโปรงใสเป็นการแบ่งแยกพื้นทื่เก็บขยะโดยมีเพดานเหล็กคลุมอยู่ข้างบน ซึ่งนอกจากจะช่วงบังลมและฝนให้แล้ว การออกแบบดังกล่าวยังถูกผสมผสานเข้ากับการใช้พลาสติกและมีรางน้ำติดตั้งเพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดและบำรุงรักษา

พื้นที่เก็บขยะ ก่อน และ หลัง ได้รับการปรับปรุง (ที่มา: Design Movement On Campus)

ในด้านการใช้สอยพื้นที่ได้ถูกจัดแบ่งอย่างชัดเจนในการจัดเก็บขยะและขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท ทำให้ขยะ ขยะรีไซเคิลและเครื่องมือต่างๆสามารถถูกจัดวางหรือทำความสะอาดได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและสามารถดำเนินการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แผนภาพแสดงพื้นที่ในศูนย์รีไซเคิล (ที่มา: Design Movement on Campus)
พื้นที่เก็บและแขวนอุปกรณ์ทำความสะอาด (ที่มา: Design Movement on Campus)
ลานรีไซเคิลที่ได้รับการออกแบบให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยและวางก็อกน้ำในจุดที่มีระดับต่ำที่สุด (ที่มา: Golden Pin Design Award)
ก็อกน้ำติดตั้งแบบรอบทิศทางเพื่อให้ผู้ใช้หลายคนสามารถใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน(ที่มา: Golden Pin Design Award)

ในขั้นตอนสุดท้าย บริเวณรอบๆศูนย์ขยะก็ถูกทำการประดับด้วยต้นไม้ต่างๆเพื่อให้กลมกลืนไปกับทิวทัศน์สีเขียวในโรงเรียน ทำให้การกำจัดขยะไม่ต้องถูกจำกัดความว่าต้องเป็นการเดินทางไปยังสถานที่มืดมิดและมีกลิ่นเหม็นอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นพื้นที่โปร่งเข้าถึงได้และมีชีวิตชีวา

ภาพมุมสูงของศูนย์ขยะรีไซเคิลหลังได้รับการปรับปรุงใหม่ (ที่มา: Golden Pin Design Award)

ศูนย์เก็บขยะหลังจากได้รับการปรับปรุงโดยทำการออกแบบด้วยการผสมผสานความสวยงามกับการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันเข้าด้วยกันนี้ ทำให้เกิดงานดีไซน์ที่มีลักษณะเรียบง่ายแต่ตอบโจทย์การจัดการพื้นที่ภายในโรงเรียนได้อย่างดี เป็นผลให้ได้รับรางวัล Good Design Award จากประเทศญี่ปุ่นในปี 2023 และยังคว้ารรางวัล Golden Pin Design ยอดเยี่ยมแห่งปี 2023 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนอีกด้วย โดยบริษัทออกแบบ Meta House ได้กล่าวในงานพิธีมอบรางวัลว่า “ในผลงานนี้เราได้ทำการทำลายกรอบเดิมๆและเปลี่ยนภาพลักษณ์โรงงานรีไซเคิลขยะให้เป็นพื้นที่เปิดและกลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์การเรียนการสอน เราใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างมากในการออกแบบเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และอยากขอบคุณทางโรงเรียนที่เต็มใจลงทุนช่วยเหลือโครงการนี้ เรายังคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนที่สวยงามให้เด็กๆผ่านทางการออกแบบที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ”

ทีมออกแบบกล่าวสุนทรพจน์ในงานรับรางวัล Golden Pin Design ยอดเยี่ยมแห่งปีร่วมกับครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษากวางอู่ (ที่มา: Golden Pin Design Award)

หลังจากได้มีการเผยแพร่การรีดีไซน์ศูนย์รีไซเคิลผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตแล้ว ผู้คนต่างแสดงความคิดเห็นถึงข้อสงสัยมากมาย อาทิเช่น พื้นที่เก็บขยะแบบใหม่แม้มีความสวยงามแต่จะเพียงพอที่จะรองรับขยะปริมาณขยะในโรงเรียนหรือไม่ หรือการใช้โทนสีขาวเป็นหลักจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับภาพลักษณ์พื้นที่เก็บขยะหรือไม่ เป็นต้น โดยในระหว่างการออกแบบทางทีมออกแบบและโรงเรียนได้ทำการปรึกษาพูดคุยถึงปัญหาอย่างเต็มที่ รวมถึงร่วมกันวิเคราะห์ปริมาณขยะโดยเฉลี่ยเพื่อออกแบบพื้นที่ที่สามารถรองรับขยะได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งได้เชิญนักเรียนในโรงเรียนมาร่วมช่วยตั้งชื่อสถานที่นี้ด้วย โดยให้มีชื่อว่า “保時潔 (เป่าฉือเจี๋ย)” แปลว่าให้รักษาความสะอาดตลอดเวลา ซึ่งมีที่มาจากการเล่นคำของยี่ห้อรถ “Porshe” ในภาษาจีนที่อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน คือ “保時捷 (เป่าฉือเจี๋ย)” ทั้งนี้ การให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนในการตั้งชื่อ จะช่วยให้เด็กๆรู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง ทางครูใหญ่เองก็ได้ชมเชยทีมออกแบบในระหว่างการมอบรางวัลโดยกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงพื้นที่มืดอับในโรงเรียนให้กลายเป็นลานเปิดและศูนย์การเรียนการสอนด้านการรีไซเคิลที่สวยงามเป็นการออกแบบที่เชื่อมโยงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สิ่งของ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีสุนทรียภาพ”

โครงการพัฒนาการออกแบบในสถานศึกษา (Design Movement on Campus) ไม่เพียงแค่ดำเนินการสำหรับสถาบันใดสถาบันหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการดำเนินการร่วมกับสถาบันต่างๆที่อาสาให้ความร่วมมือในแต่ละปี จากนั้นได้จัดทำเป็นคู่มือวิธีปฏิบัติให้คำแนะนำถ่ายทอดการพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาที่โรงเรียนตัวอย่างและทีมออกแบบพบเจอในพื้นที่ศึกษา รวมถึงวิธีการคิดเชิงออกแบบและการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้พื้นที่อื่นๆสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของกรณีตัวอย่างและนำไปปรับใช้ออกแบบแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้ โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าสุนทรียภาพและการออกแบบสามารถถูกนำมาคิดค้นผสมผสานเป็นพื้นที่รูปแบบใหม่ๆที่จะช่วยให้เด็กๆมีพื้นที่ที่จะได้ทำการศึกษาเรียนรู้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น