ปราสาทลอยท้องฟ้าเวอร์ชันไต้หวัน – จุดไฟให้ซากปราสาท 13 ชั้น

เราอยู่แต่บ้านกันมานานเท่าไหร่แล้ว? คิดถึงช่วงเวลาแห่งการท่องเที่ยวแล้วหรือยัง? วันนี้เราขอเชิญคุณให้มานั่งลองจินตนาการกันถึงการท่องเที่ยวหลังหมดโควิดกันเถอะ ! แต่ไม่ว่าในลิสต์คุณจะมีกี่สถานที่ อย่าลืมใส่สถานที่เล็กๆ น่ารักๆ อย่างไต้หวันไว้ในลิสต์ท่องเที่ยวของคุณล่ะ!

น้ำตกฉือเฟิ่น (แหล่งที่มา เอเลน)
โคมลอยผิงซี (แหล่งที่มา เอเลน)

ไต้หวันเป็นเมืองที่อยู่ใกล้เพียงแค่นั่งเครื่องบินสองสามชั่วโมงจากไทยและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในใจคนไทยหลายคนที่สามารถเที่ยวได้ครบในทริประยะเวลา 5 วัน โดยนอกจากสถานที่ยอดฮิตอย่างอาคาร ไทเป101 ภูเขาอาหลีซาน หรือทะเลสาปสุริยันจันทราแล้ว ไต้หวันยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมน่าสนใจมากมายอย่างการปล่อยโคมลอยที่ผิงซี เดินเล่นในถนนสายเก่าจิ่วเฟิน หรือเส้นทางธรรมชาติน้ำตกฉือเฟิ่นที่อยู่ตอนเหนือของไต้หวัน สถานที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ แต่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวไต้หวันเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเร็วๆนี้ ได้มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ชื่อว่า ’ซากปราสาทสิบสามชั้น’ ( 13 Layer Remains) ซึ่งเปรียบดั่งปราสาทที่อยู่บนท้องฟ้าในเวอร์ชันไต้หวัน มาจากการที่สถานที่ดังกล่าวเมื่อมองจากที่ไกลๆแ ล้วมีลักษณะคล้ายสิ่งโบราณสถานที่ตกทอดมาในวัฒนธรรมมายัน แต่เมื่อคุณได้มองในมุมที่ใกล้มากขึ้น จะสังเกตได้ว่าสิ่งก่อสร้างนั้นที่แท้จริงแล้วเป็นเหมืองแร่อายุ 30 ปีอันเป็นโบราณสถานที่ตกทอดมาจากสมัยที่ไต้หวันยังถูกปกครองโดยญี่ปุ่นในกาลก่อน

ภาพเหมืองแร่ ‘ซากปราสาท 13 ชั้น’ ชั้นเมื่อเปิดไฟ (แหล่งที่มา Golden Pin Design Award)

โครงสร้างพิเศษของธรณีวิทยาในจินกวอฉือ(Jinguashi) ที่ตั้งอยู่สุดขอบภาคเหนือของไต้หวันเป็นที่ดึงดูดแก่ผู้คนจำนวนมากให้ไปทำการขุดทองกันที่นั่น ในช่วงระหว่างที่ไต้หวันถูกปกครองโดยญี่ปุ่น ไต้หวันได้มีอุตสาหกรรมการกลั่นทองซึ่งกลายเป็นโบราณสถานคือเหมืองแร่ดังกล่าวในภายหลัง โดยเหมืองแร่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยการเรียงต่อเป็นชั้นๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ จากพื้นดิน ทำผู้คนที่อาศัยอยู่แถวนั้นพากันเรียกสถานที่นี้ว่าว่า ‘ซากปราสาท 13 ชั้น’ และยังกลายเป็นโรงผลิตที่ใหญ่ที่สุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในไต้หวันด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยการลดลงของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไต้หวันและปัญหาสารปนเปื้อนที่ตกค้างใต้ดิน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวถูกห้ามไม่ให้มีการเข้าชมแล้วกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทอดทิ้งกว่า 30 ปี ทำให้จินกวอฉือ (Jinguashi) ค่อยๆ ถูกลืมหายไปตามกาลเวลา

ภาพเหมืองแร่ ‘ซากปราสาท 13 ชั้น’ ตอนกลางวัน (แหล่งที่มา Taiwan Power Company)

“พื้นที่เหมืองร้างทำให้ฉันเห็นภาพของประวัติศาสตร์ของไต้หวัน และซากปราสาท 13 ชั้นก็เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นถึงความต่อเนื่องจากประวัติศาสตร์ในตอนนั้น”

คุณโจวเหลียน (Chou Lien) ผู้ออกแบบการตกแต่งไฟ

หลังจากได้เข้าครอบครองพื้นที่ดังกล่าว บริษัท Taiwan Power ก็ได้ทำการเชิญนักออกแบบชาวไต้หวัน คุณโจวเหลียน(周鍊) ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานในหลายๆ สถานที่ดังอย่างเทพีเสรีภาพในอเมริกา หรือตึกแฝดในมาเลเซีย และคุณเหอไฉ่โหรว(何采柔) ให้เข้ามาร่วมกันทำการรีโนเวทสถานที่ดังกล่าว โดยทำการออกแบบใหม่บนพื้นที่สิบสามชั้นให้ผสานเข้ากับการศึกษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและการพัฒนาชุมชน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นงานศิลปะสาธารณะชิ้นแรกของไต้หวันที่นำพื้นที่ที่มีสารปนเปื้อนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยให้กลายเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ฑ์กลางแจ้งและเป็นพื้นที่ในการเชื่อมสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยรอบๆ และเป็นพื้นที่แหล่งใหม่แห่งวงการท่องเที่ยวไต้หวัน ทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักสถานโบราณแห่งนี้อีกครั้ง

‘สวรรค์และโลกมีความงามอันยิ่งใหญ่โดยไม่จำเป็นมีคำต้องบรรยาย’ เป็นคำพูดจากคุณจวงจื่อ นักปรัชญาชื่อดัง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ของคุณโจว ภายใต้แนวคิดดังกล่าว เหล่าทีมนักออกแบบเลือกที่จะทำการออกแบบที่ไม่จำเป็นต้องทำการก่อสร้างหรือรุกล้ำพื้นที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากซากปราสาท 13 ชั้นที่มีแต่เดิมอยู่แล้ว ดังนั้นชิ้นงานศิลปะสาธารณะ ‘การจุดไฟให้ซากปราสาท 13 ชั้น’ จึงได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันคอนเซปท์การสร้างสรรค์ดังกล่าวก็สะท้อนถึงความใส่ใจในมุมมองประวัติศาสตร์และความรู้สึกนึกคิดของเหล่าผู้พบเห็น

โปสเตอร์โปรโมทซากปราสาท 13 ชั้น (แหล่งที่มา The General Association of Chinese Culture)

ในการออกแบบงานดังกล่าว คุณโจวเหลียนได้เน้นย้ำถึงคอนเซปท์ว่า ‘แสงไฟไม่ใช่ตัวเอกของเรื่องและไม่ควรส่องสว่างจนเกินไป แต่ต้องสามารถส่องแสงร่วมกับธรรมชาติรอบข้างได้อย่างกลมกลืน’ ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะใช้แสงสีเหลืองอำพันอ่อนๆ ในระดับที่ใกล้เคียงกับแสงไฟจากพื้นที่หมู่บ้านรอบๆ และใช้โคมไฟประมาณ 360 ดวงในการช่วยสะท้อนให้เห็นโครงสร้างของเหมืองแร่ โดยระบบแสงดังกล่าวยังมีการออกแบบให้ปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงแต่ละฤดูกาลในไต้หวันอีกด้วย

“แม้จะดูเหมือนซากปรักหักพัง แต่ก็มีร่องรอยของกาลเวลา ดูเหนือจริงและเหมือนหยุดเวลาไว้ให้คงที่”

คุณเห่อกล ผู้ออกแบบการตกแต่งไฟ

ในอีกมุมหนึ่ง คุณเหอก็ได้ติดตั้งโคมไฟรูปตัวไอ (I) ในอุโมงค์และโรงงานต่างๆ ในเขตเหมืองแร่ ในเวลากลางวันโคมไฟเหล่านี้จะทำหน้าหน้าที่เป็นจุดแลนด์มาร์คสำหรับนักท่องเที่ยว และจะส่องแสงสว่างสไวในยามกลางคืนประหนึ่งแสงที่ปลายอุโมงค์ที่พาเราเปิดประตูย้อนเวลาไปสู่อดีต ซึ่งมีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ภาพซากเหมืองที่ส่องแสงจากโคมไฟและพื้นที่หมู่บ้านรอบๆ  (แหล่งที่มา Taipei International Design Award)
ภาพแสงไฟรูปตัว ไอ (I) ในอุโมงค์  (แหล่งที่มา Golden Pin Design Award)

ในระหว่างการออกแบบ ทีมออกแบบต้องเผชิญหน้ากับปัญหามากมายที่ถาโถมเข้ามาระหว่างการดำเนินการ เนื่องจากเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นในสมัยก่อนทำให้ไม่มีภาพแปลนโครงสร้างโดยสมบูรณ์ตกทอดมาด้วย ดังนั้นทางทีมต้องทำการลงพื้นที่วัดแต่ละพื้นที่ด้วยตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อจำกัดของภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกัน ดังนั้นการติดตั้งไฟและวัสดุก่อสร้างทั้งหมดจำเป็นต้องทำการขนย้ายด้วยแรงงานคน ทำให้ต้องใช้เวลากว่าสองปีจึงจะเสร็จสิ้นชิ้นงานการออกแบบสาธารณะดังกล่าว

แต่ในท้ายที่สุด การจุดไฟให้ซากปราสาท 13 ชั้นก็สำเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยดี พร้อมทั้งเสียงกลองและการแสดงในพิธีจุดไฟ เมื่อผสมผสานการแสดงเข้ากับการจัดแสงไฟ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเเป็นโรงละครเหมืองกลางแจ้ง (mining-amphitheater) แห่งแรกในไต้หวัน โปรเจคดังกล่าวได้ถูกการันตีความสร้างสรรค์จากหลากหลายรางวัลในประเทศต่างๆ เช่น รางวัลการออกแบบแบรนด์และการสือสารจาก Red Dot Design Award ของเยอรมัน รางวัลการออกแบบแผนเมืองและพัฒนาสังคมจาก Good Design Award ของญี่ปุ่น และ รางวัลการออกแบบพื้นที่มรดกและแผนผังเมืองจาก The U.S. MUSE Design Award ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงรางวัลการออกแบบประจำปี 2020 จาก Golden Pin Design Award ของไต้หวัน

ภาพการส่องแสงของปราสาทสิบสามชั้น (แหล่งที่มา Taipei International Design Award)
พิธีแสดงการจุดไฟให้ปราสาทสิบสามชั้น (แหล่งที่มา Golden Pin Design Award)

ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้พบกันในไต้หวันหลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด ฉะนั้นนอกจากแวะมาเที่ยวภูเขาอาหลีซานและทะเลสาปสุริยันจันทราแล้ว อย่าลืมถือโอกาสมาแวะพักที่จินกวนฉือกันล่ะ !